ฟาโรห์ยานาสซิ
ยานาสซิ (หรือ ยานซาส-อะเดน อาจจะสะท้อนถึงกลุ่มภาษาเซมิติกตะวันตก *Jinaśśi’-Ad) เป็นเจ้าชายชาวฮิกซอส และอาจจะทรงเป็นฟาโรห์ของราชวงศ์ที่สิบห้าแห่งอียิปต์ พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของฟาโรห์คยาน และอาจจะเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของฟาโรห์คยาน พระองค์อาจจะทรงสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการกล่าวถึงฟาโรห์พระนามว่า "อิอานนาส" ในแอกิปเทียกาของแมนิโธ ซึ่งกล่าวกันว่าไม่น่าจะทรงปกครองหลังจากรัชสมัยของฟาโรห์อโพฟิส
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คิม ไรฮอล์ท นักไอยคุปต์วิทยาได้เสนอว่า ฟาโรห์อโพฟิสทรงสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากฟาโรห์คยาน และเนื่องจากพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของฟาโรห์คยาน ไรฮอล์ทจึงได้เสนอว่า ฟาโรห์อโพฟิสทรงเป็นผู้แย่งชิงพระราชบัลลังก์[1] แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธว่าเป็นเพียงการคาดเดาโดยนักวิชาการรวมถึง เดวิด แอสตัน[2] การค้นพบทางโบราณคดีในช่วงปี ค.ศ. 2010 ได้แสดงให้เห็นว่าการปกครองของฟาโรห์คยาน อาจจะต้องย้อนเวลากลับไปอีก ทำให้เกิดความต้องการและเวลาสำหรับฟาโรห์อีกหนึ่งพระองค์หรือมากกว่าที่จะทรงขึ้นครองราชย์ระหว่างรัชสมัยฟาโรห์คยานและฟาโรห์อโพฟิส นอกจากนี้ บันทึกพระนามแห่งตูริน ซึ่งเป็นบันทึกพระนามทั้งหมดที่ถูกเขียนขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ในบันทุกพระนามได้บันทึกว่า ฟาโรห์ที่ทรงขึ้นปกครองก่อนหน้ารัชสมัยของฟาโรห์อโพฟิสแและหลังรัชสมัยของฟาโรห์คยานอยู่ที่ระยะเวลานานกว่า 10 ปี และอาจจะเป็นไปได้ว่าคือฟาโรห์ยานาสซิ ถ้าหากพระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองก่อนหน้าของฟาโรห์อโพฟิสจริง[2]
หลักฐานยืนยัน
[แก้]ถึงแม้ว่าพระราชสถานะของพระองค์จะเป็นพระราชโอรสของฟาโรห์คยานที่ทรงครองราชย์มายาวนาน แต่ฟาโรห์ยานาสซิก็ทรงได้รับการยืนยันจากจารึกที่เสียหายเท่านั้น (ไคโร ทีดี-8422 [176]) ซึ่งพบที่เทลล์ อัล-ดับ'อะฮ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงของฮิกซอสโบราณนามว่า อวาริส[3][4] บนจารึก ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าเซธ เจ้าแห่งอวาริส พระองค์ทรงถูกเรียกว่า พระราชโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ในฟาโรห์คยาน[1]
ถ้าหากเจ้าชายยานาสซิทรงขึ้นเป็นฟาโรห์จริง ๆ พระองค์อาจจะปกครองระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์คยานและรัชสมัยของฟาโรห์อโพฟิส ในบันทึกพระนามแห่งตูริน ข้อความก่อนหน้าที่เกี่ยวข้องกับฟาโรห์อโพฟิสในคอลัมน์ที่ 10 บรรทัดที่ 26 ได้รับความเสียหาย จนทำให้พระนามของฟาโรห์สูญหายไป และระยะเวลาการครองราชย์ของพระองค์หลงเหลือเพียงบางส่วน อาจจะอ่านได้ว่า 10, 20 หรือ 30 บวกกับจำนวนปีที่แน่นอน[2]
นอกจากนี้ หลักฐานยืนยันของพระองค์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หลักฐานร่วมสมัยแต่ก็อาจจะพบได้ใน Contra Apionem ของโจเซฟุส ซึ่งโจเซฟุสได้บันทึกว่าอ้างข้อมูลโดยตรงจาก แอกิปเทียกา (Αἰγυπτιακά) ของนักบวชชาวอียิปต์นามว่าแมนิโธ ซึ่งจะเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 2 (ทรงครองราชย์ระหว่าง 283 – 246 ปีก่อนคริสตกาล) โดยไม่หลงเหลือสำเนาของแอกิปเทียกามาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และในปัจจุบันเป็นที่ทราบผ่านการอ้างอิงในภายหลังโดยเซ็กตุส จูลิอุส แอฟริกานุส, โจเซฟุส และยูเซบิอุสเท่านั้น ตามงานเขียนของโจเซฟุส ผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ในราชวงศ์ที่สิบห้าของแมนิโธคือ ซาลิทิส, บนอน, อะปัชนัน, อิอานนาส, อาร์คลีส/อัซซิส และอโพฟิส ซึ่งโดยทั่วไปเข้าใจว่า อะปัชนัน เป็นพระนามในภาษากรีกของฟาโรห์คยาน ในขณะที่พระนามอิอานนาส (กรีกโบราณ: Iαννας) จะเข้าใจได้ดีที่สุดว่าเป็นการเขียนพระนามที่ผิดพลาดของฟาโรห์ยานาสซิ โดยยืนยันว่าพระองค์ทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์แห่งฮิกซอส และโจเซฟุสก็บันทึกเพิ่มเติมอีกว่า แมนิโธได้ระบุว่าฟาโรห์อิอานนาสทรงครองราชย์ที่ยาวนานอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ถึง 50 ปีกับอีก 1 เดือน[5][6][7] ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ประเด็นดังกล่าวหมายความว่า แมนิโธต้องถือว่ายานาสซิเป็นฟาโรห์ จนถึงปี ค.ศ. 2010 ความเห็นดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยความเห็นพ้องทางวิชาการในไอยคุปต์วิทยา ซึ่งถือว่าฟาโรห์อโพฟิสทรงเป็นผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์โดยตรงของฟาโรห์คยาน ตามที่เสนอโดยไรฮอล์ท ซึ่งในความเข้าใจดังกล่าว ดูเหมือนว่าในบันทึกของแมนิโธที่กล่าวถึงทั้งฟาโรห์อิอานนาส/ยานาสซิ และฟาโรห์คยานนั้น โจเซฟุสได้เลือกอย่างผิดๆ แทนที่จะเลือกเป็นพระองค์อย่างหลัง[6] ซึ่งความเห็นดังกล่าวได้ถูกคัดค้านโดยการค้นพบทางโบราณคดีซึ่งบอกเป็นนัยว่า ฟาโรห์คยานอาจจะทรงขึ้นครองราชย์เร็วกว่าที่เคยคิดไว้ถึง 80 ปี ทำให้ต้องมีฟาโรห์หนึ่งหรือหลายพระองค์ที่จะต้องขึ้นครองราชย์ระหว่างพระองค์กับฟาโรห์อโพฟิส[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ryholt 1997, p. 256.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Aston 2018, p. 16.
- ↑ Bietak 1981, pp. 63–73.
- ↑ Ryholt 1997, p. 57 n.159.
- ↑ Gardiner 1961, p. 156.
- ↑ 6.0 6.1 Ryholt 1997, pp. 120–121.
- ↑ Aston 2018, p. 18.
- ↑ Aston 2018, p. 17.
บรรณานุกรม
[แก้]- Aston, David A. (2018). "How Early (and How Late) Can Khyan Really Be. An Essay Based on "Conventional Archaeological Methods"". ใน Moeller, Nadine; Forstner-Müller, Irene (บ.ก.). The Hyksos ruler Khyan and the Early Second Intermediate Period in Egypt: Problems and Priorities of Current Research. Proceedings of the Workshop of the Austrian Archaeological Institute and the Oriental Institute of the University of Chicago, Vienna, July 4 – 5, 2014. Leberstraße 122 A-1110 Wien: Verlag Holzhausen GmbH. pp. 15–56. ISBN 978-3-902976-83-3.
{{cite book}}
: CS1 maint: location (ลิงก์) - Bietak, Manfred (1981). "Eine Stele des ältesten Königssohnes des Hyksos Chajan". Mitteilungen des Deutschen Archäologischen Instituts, Abteilung Kairo (MDAIK). 37: 63–73.
- Gardiner, Alan (1961). Egypt of the Pharaohs: an introduction. Oxford University Press. p. 156. ISBN 978-0-19-500267-6.
- Ryholt, Kim (1997). The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c. 1800–1550 B.C. CNI publications, 20. Carsten Niebuhr Institute of Near Eastern Studies, University of Copenhagen : Museum Tusculanum Press. ISBN 978-87-7289-421-8.