ข้ามไปเนื้อหา

มาเรียแห่งเท็ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาเรียแห่งเท็ค
พระฉายาลักษณ์ทางการ ช่วงปี ค.ศ. 1920
สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ
จักรพรรดินีเเห่งอินเดีย
ดำรงพระยศ6 พฤษภาคม 1910 - 20 มกราคม 1936
ราชาภิเษก22 มิถุนายน 1911
(สหราชอาณาจักร)
12 ธันวาคม 1911
(อินเดีย)
ก่อนหน้าอเล็กซานดรา
ถัดไปเอลิซาเบธ
พระราชสมภพ26 พฤษภาคม ค.ศ. 1867(1867-05-26)
พระราชวังเคนซิงตัน ลอนดอน สหราชอาณาจักร
สวรรคต24 มีนาคม ค.ศ. 1953(1953-03-24) (85 ปี)
พระตำหนักมาร์ลโบโรห์ ลอนดอน สหราชอาณาจักร
ฝังพระศพ31 มีนาคม ค.ศ. 1953
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
พระราชสวามีสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
วิกตอเรีย แมรี ออกัสตา ลูอีส โอลกา พอลีน คลอดีน แอ็กเนส
ราชวงศ์เวือร์ทเทิมแบร์ค (พระราชสมภพ)
ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (อภิเษกสมรส)
วินด์เซอร์ (สถาปนา)
พระราชบิดาเจ้าชายฟรานซิส ดยุกแห่งเท็ก
พระราชมารดาเจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งเคมบริดจ์
ลายพระอภิไธย

มาเรียแห่งเท็ค (เยอรมัน: Maria von Teck) หรือ เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี ออกัสตา ลูอีส โอลกา พอลีน คลอดีน แอ็กเนสแห่งเท็ก (อังกฤษ: Princess Victoria Mary Augusta Louise Olga Pauline Claudine Agnes of Teck) เป็นเจ้าหญิงเยอรมันจากราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค ได้อภิเษกสมรสเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 จึงถูกออกพระนามว่า สมเด็จพระราชินีแมรี (Queen Mary) พระนางยังมีพระยศเป็นจักรพรรดินีแห่งอินเดียและพระราชินีแห่งไอร์แลนด์อีกด้วย

หกสัปดาห์ภายหลังจากการหมั้นหมายกับเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุกแห่งคลาเรนซ์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ เจ้าชายสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปวดบวม ในปีต่อมาเจ้าหญิงแมรีทรงหมั้นหมายกับรัชทายาทพระองค์ใหม่ พระอนุชาในเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ คือ เจ้าชายจอร์จ ในฐานะสมเด็จพระราชินีอัครมเหสีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 พระองค์ทรงสนับสนุนพระราชสวามีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เนื่องจากพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการครั้งใหญ่ที่เกิดมาจากผลกระทบหลังสงครามและการอุบัติขึ้นของลัทธิสังคมนิยมและชาตินิยม หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชสวามีเมื่อปี ค.ศ. 1936 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระโอรสองค์โตได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาธิบดี-จักรพรรดิ แต่กลับสร้างความผิดหวังให้กับพระองค์ด้วยการสละราชสมบัติในปีเดียวกันเพื่ออภิเษกกับนางวอลลิส ซิมป์สัน สาวสังคมชาวอเมริกันที่หย่าร้างมาแล้วสองครั้ง พระองค์ทรงสนับสนุนเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งทรงสืบต่อราชบัลลังก์อังกฤษเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1952 พระองค์ก็เสด็จสวรรคตในปีต่อมา

ในช่วงเวลาของพระองค์ สมเด็จพระราชินีแมรีทรงเป็นที่รู้จักถึงการกำหนดลีลาให้พระราชวงศ์อังกฤษดำเนินไป ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างของความเป็นระเบียบทางการและขนบธรรมเนียมของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีต่าง ๆ พระองค์เป็นสมเด็จพระราชินีมเหสีที่ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของทายาทของพระองค์ นอกจากนั้นพระองค์ที่ยังทรงเป็นที่รู้จักถึงการประดับเพชรพลอยในงานพิธีทางการต่าง ๆ ทรงทิ้งชุดเครื่องเพชรต่างๆ ซึ่งถือว่าประเมินค่ามิได้ในขณะนี้เอาไว้

พระชนม์ชีพในวัยเยาว์

[แก้]

เจ้าหญิงมาเรียแห่งเท็คประสูติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1867 ณ พระราชวังเคนซิงตัน กรุงลอนดอน พระชนกคือฟรานซิส ดยุกแห่งเท็ค พระโอรสในดยุกอเล็กซานเดอร์แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค ซึ่งประสูติกับพระชายาจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ (morganatic) คือ เคาน์เตสคลอดีน เรดีย์ ฟอน คิส-เรเดอ (ได้รับการสถาปนาเป็น เคาน์เตสแห่งโฮเอ็นชไตน์ในจักรวรรดิออสเตรีย) ส่วนพระชนนีคือเจ้าหญิงแมรี แอดิเลดแห่งเคมบริดจ์ พระธิดาพระองค์ที่สามและพระองค์เล็กในเจ้าชายอดอลฟัส ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และ เจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮสส์-คาสเซิล พระองค์เป็นพระราชปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทางสายพระมารดา เจ้าหญิงทรงเข้าพิธีบัพติศมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเคนซิงตัน จากชาร์ลส์ โธมัส ลองเลย์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี โดยได้มีพระบิดาและพระมารดาทูนหัวคือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เจ้าชายแห่งเวลส์ (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และพระญาติและพระสัสสุระของเจ้าหญิงมาเรีย) แกรนด์ดัชเชสแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ และ ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์

แม้พระชนนีของพระองค์จะเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าจอร์จที่ 3 แต่เจ้าหญิงมาเรียทรงเป็นเพียงเชื้อพระราชวงศ์ชั้นรองของพระราชวงศ์อังกฤษ ดยุกแห่งเท็ค พระชนกของพระองค์เป็นพระโอรสจากการอภิเษกสมรสต่างฐานันดรศักดิ์ มิทรงมีสิทธิในมรดกหรือทรัพย์สินใด ๆ ทั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศชั้นเล็กอย่าง Serene Highness อย่างไรก็ตาม ดัชเชสแห่งเท็คทรงได้รับเบี้ยหวัดประจำปีจากรัฐสภาจำนวนห้าพันปอนด์ อีกทั้งยังทรงได้รับอีกสี่พันปอนด์ต่อปีจากดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชนนีอีกด้วย แม้กระนั้นครอบครัวยังคงมีหนี้สินมากและถูกบังคับให้อาศัยอยู่ต่างแดนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1883 เพื่อประหยัดการใช้จ่าย ครอบครัวเท็คได้เดินทางท่องไปทั่วทวีปยุโรป เพื่อเยี่ยมเยี่ยนพระประยูรญาติและพำนักอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีในช่วงระยะหนึ่ง เจ้าหญิงมาเรียได้ทรงเพลิดเพลินกับการเสด็จยังสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ โบสถ์วิหาร และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ในปี ค.ศ. 1885 ครอบครัวเท็คกลับมายังกรุงลอนดอนและได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตำหนักขาว ในราชอุทยานริชมอนด์เป็นที่พักอาศัย เจ้าหญิงมาเรียทรงสนิทสนมกับพระชนนีและทรงทำหน้าที่เป็นเลขนุการอย่างไม่เป็นการ โดยทรงช่วยเหลือในการจัดเลี้ยงสังสรรค์และงานสังคมต่างๆ นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังทรงสนิทสนมกับแกรนด์ดัชเชสแห่งเม็คเล็นบูร์ก-สเตรลิตซ์ (พระอิสริยยศเดิม เจ้าหญิงออกัสตาแห่งเคมบริดจ์) พระมาตุจฉาและเขียนพระหัตถเลขาถึงพระองค์ทุกสัปดาห์มิเคยขาด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดนทรงช่วยเหลือในการส่งจดหมายจากเจ้าหญิงมาเรียถึงพระมาตุจฉา ซึ่งประทับอยู่ในดินแดนของฝ่ายศัตรูในประเทศเยอรมนี จนกระทั่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในปลายปี ค.ศ. 1916

หมั้นหมายและอภิเษกสมรส

[แก้]

ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1891 เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่ ("เมย์") ได้ทรงหมั้นหมายกับพระญาติชั้นที่สองคือ เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุกแห่งคลาเรนซ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายแห่งเวลส์ พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นเจ้าสาวของดยุก เนื่องจากความโปรดปรานในตัวเจ้าหญิงของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นหลัก รวมทั้งบุคลิกที่เข็มแข็งและการรู้ถึงหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ดยุกแห่งคลาเรนซ์ได้สิ้นพระชนม์อีกหกสัปดาห์ต่อมาในโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งแพร่ระบาดทั่วประเทศอังกฤษในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1891-1892

ถึงแม้จะเป็นความล้มเหลว สมเด็จพระราชินีนาถก็ยังคงโปรดเจ้าหญิงมาเรียในฐานะผู้ได้รับเลือกอันเหมาะสมที่จะอภิเษกสมรสกับพระมหากษัตริย์ในอนาคต และเจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชาในเจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ซึ่งตอนนี้ทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์ทรงใกล้ชิดกับเจ้าหญิงมาเรียระหว่างช่วงเวลาของการไว้อาลัยร่วมกันของทั้งสองพระองค์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1893 เจ้าชายจอร์จทรงขออภิเษกในเวลาอันควรและเจ้าหญิงมาเรียก็ทรงตกลง การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เจ้าหญิงมาเรียและเจ้าชายจอร์จทรงรักกันอย่างลึกซึ้งในเวลาไม่นาน เจ้าชายจอร์จไม่ทรงมีสนมลับเลย (เป็นระดับของความซื่อสัตย์ที่ไม่ธรรมดาในยุคนั้น) และทรงเขียนพระหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงมาเรียอยู่เกือบจะทุกวัน

การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน และมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 6 พระองค์คือ

ดัชเชสแห่งยอร์ก

[แก้]

ภายหลังจากการอภิเษกสมรส เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรีทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงดัชเชสแห่งยอร์ก (HRH The Duchess of York) ดยุกและดัชเชสแห่งยอร์กประทับอยู่ที่ตำหนักยอร์ก ซึ่งเป็นเรือนหลังเล็กในเขตพระราชฐานแซนดริงแฮม ในมณฑลนอร์โฟล์ค ทั้งสองพระองคก็ยังทรงมีห้องชุดในพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอนอีกด้วย ตำหนักยอร์คเป็นเรือนที่สมถะสำหรับเชื้อพระวงศ์ แต่เป็นที่โปรดปรานของเจ้าชายจอร์จ ซึ่งโปรดชีวิตแบบเรียบง่าย ทั้งสองพระองค์ได้ประทับร่วมกับพระโอรสและธิดาหกพระองค์คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าหญิงแมรี เจ้าชายเฮนรี เจ้าชายจอร์จ และเจ้าชายจอห์น

ดัชเชสทรงทุ่มเทให้กับพระโอรสและธิดามาก แต่ทรงให้อยู่ในความดูแลของพระพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัวระดับสูงในสมัยนั้น พระพี่เลี้ยงคนแรกโดนไล่ออกจากความไร้มารยาท และคนที่สองถูกจับได้ว่าทารุณข่มเหงพระโอรสและพระธิดา พระพี่เลี้ยงจะหยิกเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก่อนที่นำพระองค์ไปเฝ้าดยุกและดัชเชส โดยทำให้ทรงกันแสงอย่างจงใจเพื่อจะได้เสด็จกลับมากับเธอโดยเร็ว เธอก็โดนไล่ออกเช่นกัน และมีผู้ช่วยคนใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่รักอย่างมากมาแทนคือ นางบิลล์

ประวัติศาสตร์ได้จดจำสมเด็จพระราชินีแมรีในฐานะพระชนนีที่เฉยเมย พระองค์มิเคยทรงสังเกตเห็นถึงความละเลยของพระพี่เลี้ยงต่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายอัลเบิร์ต และเจ้าชายจอห์น พระโอรสองค์เล็กทรงถูกทอดทิ้งอยู่ห่างไกลอยู่ที่พระราชวังแซนดริงแฮม ในความดูแลของนางบิลล์ ดังนั้นสาธารณชนจึงไม่เคยได้เห็นพระโรคลมชักของพระองค์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทรงมีภาพพจน์ต่อสาธารณชนที่ขึงขังและชีวิตพระส่วนพระองค์ที่เคร่งครัดในศีลธรรม พระองค์ก็เป็นพระชนนีที่เอาใจใส่ในหลายเรื่อง โดยทรงเผยให้เป็นถึงด้านความรักและขี้เล่นต่อพระโอรสและธิดาและทรงสอนประวัติศาสตร์และดนตรีให้กับทุกพระองค์

ในฐานะดยุกและดัชเชสแห่งยอร์ค เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงมาเรียทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านสาธารณะมากมาย เมื่อในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคตและเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด พระสัสสุระของดัชเชสแห่งยอร์ค เสวยราชสมบัติสืบต่อเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 นับแต่นั้นทั้งสองพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายดยุกและเจ้าหญิงดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์และยอร์ก (TRH The Duke and Duchess of Cornwall and York) และก็ได้เสด็จประพาสทั่วจักรวรรดิอังกฤษ โดยเสด็จเยือนยิบรอลตาร์ มอลตา อียิปต์ ลังกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มอริเชียส แอฟริกาใต้ และแคนาดาเป็นเวลาแปดเดือน ไม่เคยมีเชื้อพระวงศ์องค์ใดเสด็จต่างประเทศแบบหมายมาดเช่นนี้มาก่อน ดัชเชสทรงกันแสงน้ำพระเนตรหลั่งไหลออกมาเมื่อทรงทราบว่าจะต้องจากพระโอรสและธิดาไป (ทุกพระองค์ทรงอยู่ในความดูแลของพระอัยกาและพระอัยยิกา) เป็นช่วงเวลาอันนาน ในระหว่างการเสด็จประพาส ทั้งสองพระองค์ทรงเปิดวาระการประชุมแรกของรัฐสภาออสเตรเลีย เมื่อเครือรัฐออสเตรเลียได้ก่อตั้งขึ้น

เจ้าหญิงแห่งเวลส์

[แก้]

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 เก้าวันหลังการเสด็จกลับถึงสหราชอาณาจักรและการเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เจ้าชายจอร์จทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรีก็ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (HRH The Princess of Wales) ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จจากพระราชวังเซนต์เจมส์ไปประทับยังตำหนักมาร์ลโบโร พระราชฐานในกรุงลอนดอน ขณะที่ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระองค์ได้โดยเสด็จพระสวามีไปในการเยือนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและราชอาณาจักรเวือร์ทเท็มแบร์กเมื่อปี ค.ศ. 1904 และในปีต่อมาก็มีพระประสูติกาลเจ้าชายจอห์น พระโอรสองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นการประสูติที่ยากลำบากและแม้ว่าพระองค์จะทรงฟื้นพระองค์ได้รวดเร็ว แต่พระโอรสองค์ใหม่ก็ทรงทุกข์ทรมานกับปัญหาต่างๆ ที่ที่เกี่ยวกับระบบหายใจ

ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1905 เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์เสด็จประพาสต่างประเทศอีกครั้งเป็นเวลาแปดเดือน ครั้งนี้ก็เป็นการเสด็จประพาสอินเดีย และพระโอรสและธิดาทรงอยู่ในการดูแลของพระอัยกาและพระอัยยิกาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ผ่านทางอียิปต์ทั้งขาไปและกลับ โดยขากลับได้เสด็จประพาสประเทศกรีซ ตามมาด้วยการเสด็จเยือนประเทศสเปนเกือบจะทันทีเพื่อไปร่วมงานพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปนและเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจีนีแห่งแบ็ตเต็นเบิร์ก ซึ่งทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวทรงรอดพ้นจากการลอบปลงพระชนม์ได้อย่างหวุดหวิด อีกครั้งหนึ่งเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการเสด็จกลับถึงสหราชอาณาจักร ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จยังประเทศนอร์เวย์เพื่อไปร่วมในงานพระราชพธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 และสมเด็จพระราชินีม็อด (พระขนิษฐาในเจ้าชายจอร์จ)

สมเด็จพระราชินี

[แก้]
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรีแห่งอังกฤษ

ในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เสด็จสวรรคตและเจ้าชายแห่งเวลส์ก็เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรี่จึงได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสหราชอาณาจักร พระสวามีซึ่งขณะนี้ทรงเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงขอให้พระองค์เลือกใช้หนึ่งในสองพระนามทางการของพระองค์ ดังนั้นเนื่องจากทรงตรองว่ามิควรใช่พระนาม "วิกตอเรีย" จึงได้ทรงเลือกพระนาม "แมรี่" นับแต่นั้นมา สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกกับพระสวามีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1911 ณ เวสต์มินส์เตอร์แอบบีย์ กรุงลอนดอน และต่อมาเสด็จเยือนประเทศอินเดีย เพื่อในการเฉลิมฉลองการราชาภิเษกที่กรุงเดลี (Delhi Durbar) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมปีเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จประพาสทั่วประเทศไปในการเยี่ยมเยียนพสกนิกรใหม่ของพระองค์ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีของพวกเขา

ในช่วงเริ่มแรกของการเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระราชินีแมรี่ ก็ได้เห็นการก่อตัวของความขัดแย้งกับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระพันปีหลวง แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นมิตรและสนิทสนมกัน แต่พระราชินีอเล็กซานยังทรงดื้อรั้นในหลายเรื่อง พระองค์มีพระประสงค์ลำดับก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีแมรี่ในงานพระบรมศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงรั้งรอการเสด็จออกจากพระราชบัคกิ้งแฮม และทรงเก็บงำเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ต่างๆ ที่ควรจะตกทอดมายังสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่ไว้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงดำเนินการผลักดันความอดอยากที่พระราชวังบักกิงแฮม ด้วยการแบ่งปันอาหาร และเสด็จเยียมเยียนทหารที่บาดเจ็บและใกล้ตายในโรงพยาบาล ยังความกดดันทางอารมณ์ต่อพระองค์เป็นอันมาก หลังจากสามปีของสงครามกับเยอรมนี ความรู้สึกต่อต้านเยอรมนีท่ามกลางสาธารณชนในประเทศอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น พระราชวงศ์รัสเซียซึ่งถูกขับออกจากราชสมบัติโดยรัฐบาลปฏิวัติ ได้รับการปฏิเสธการให้ที่ลี้ภัย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระมเหสีของพระเจ้าซาร์ทรงเป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด ข่าวการสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์ทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการสละราชสมบัติในอังกฤษ ซึ่งต้องการให้ระบอบสาธารณรัฐเข้ามาแทนที่ระบอบกษัตริย์ หลังจากพวกสาธาณรัฐนิยมเอาภูมิหลังเยอรมันของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีมาเป็นการโต้แย้งเพื่อการปฏิรูป พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเปลี่ยนชื่อของพระราชวงศ์อังกฤษเป็นวินด์เซอร์และสละพระอิสริยยศของเยอรมันทั้งหมด ส่วนพระประยูรญาติของพระราชินีทรงสละพระอิสริยยศของเยอรมันทั้งหมดและทรงใช้ราชสกุลอังกฤษ "เคมบริดจ์" ในปี ค.ศ. 1918 สงครามได้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและการสละราชสมบัติและการเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนี

สองเดือนหลังการสิ้นสุดสงคราม พระโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระราชินีแมรี "จอห์นนี่ตัวน้อยที่รักผู้น่าสงสารของพวกเรา" สิ้นพระชนม์ขณะทรงพระชนมายุเพียง 13 ปี พระองค์ทรงบรรยายถึงความสะเทือนพระทัยและความโทมนัสของพระองค์ในสมุดบันทึก ที่บทความตอนหนึ่งได้ถูกตีพิมพ์ออกมาภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์

การสนับสนุนพระราชสวามีอย่างมั่นคงแน่วแน่ของสมเด็จพระราชินีแมรี่เข้มแข็งมากขึ้นในรัชกาลของพระองค์ พระองค์ได้ทรงแนะนำพระสวามีในเรื่องการกล่าวสุนทรพจน์ต่างๆ และได้ทรงนำความรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพระราชวงศ์มาแนะนำพระองค์ในเรื่องของบ้านเมือง พระองค์ทรงซาบซึ้งในความรอบคอบ ความเฉลียวฉลาดและการตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชินีแมรี่มาก

พระองค์ทรงคงความมั่นพระทัยในพระองค์อย่างไม่เสื่อมคลายตลอดการประกอบพระราชกรณียกิจในช่วงหลังสงคราม แม้จะมีความไม่สงบของประชาชนเกี่ยวกับเงื่อนไขของสังคม การประกาศอิสรภาพของไอร์แลนด์ และลัทธิชาตินิยมของอินเดีย

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ประชวรมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้สมเด็จพระราชินีแมรีต้องคอยทรงปรนนิบัติพระองค์ ในระหว่างการประชวรของพระองค์ในปี ค.ศ. 1928 เซอร์ ฟาร์กูฮาร์ บูซซาร์ด หนึ่งในแพทย์ประจำพระองค์ได้ถูกถามว่าใครเป็นผู้ช่วยชีวิตขององค์พระเจ้าอยู่หัว เขาตอบว่า "สมเด็จพระราชินี" ในปี ค.ศ. 1935 พระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรีทรงจัดงานฉลองพิธีรัชดาภิเษก ด้วยการจัดงานเลี้ยงฉลองต่างๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษ ในการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรัชดาภิเษก พระเจ้าจอร์จที่ 5 แสดงความเคารพพระมเหสีต่อหน้าสาธารณชน ด้วยการตรัสกับคนเขียนสุนทรพจน์ว่า "ใส่ย่อหน้านั้นไว้ตรงท้ายสุด เราไม่เชื่อว่าเราจะสามารถพูดถึงพระราชินีได้เมื่อต้องนึกถึงสิ่งที่เราเป็นหนี้เธอทั้งหมด"

สมเด็จพระราชชนนีและการสวรรคต

[แก้]

พระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1936 หลังจากบารอน ดอว์สันแห่งเพนน์ แพทย์ประจำพระองค์ได้ฉีดมอร์ฟีนและโคเคน ซึ่งอาจจะเร่งการสวรรคตให้เร็วขึ้น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระราชินีแมรี่เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และตอนนี้พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนี ถึงกระนั้นก็มิได้ทรงใช้พระอิสริยยศมากนี้นัก แต่ทรงเป็นที่รู้จักว่า สมเด็จพระราชินีแมรี (Queen Mary)

ภายในปีนั้น กษัตริย์องค์ใหม่ทรงทำให้เกิดวิกฤติการณ์รัฐธรรมนูญด้วยการประกาศพระประสงค์ที่จะอภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน สนมลับชาวอเมริกัน ที่หย่าร้างมาแล้วสองครั้ง สมเด็จพระราชินีแมรีมิทรงเห็นด้วยกับการหย่าร้างและทรงรู้สึกว่านางซิมป์สันไม่เหมาะกับการเป็นมเหสีของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากทรงได้รับคำแนะนำจากสแตนเลย์ บาลด์วิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรว่าพระองค์ไม่ทรงคงเป็นกษัตริย์และอภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สันได้ พระองค์จึงสละราชสมบัติ แม้ว่าจะทรงซื่อสัตย์และให้การสนับสนุนพระโอรส แต่สมเด็จพระราชินีแมรี่มิทรงเข้าใจในมุมมองของพระองค์ว่าทำไมกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดจะละเลยภาระหน้าที่การเป็นกษัตริย์เพื่อความรู้สึกส่วนพระองค์เช่นนี้ ถึงแม้พระองค์ทรงพบกับวอลลิสที่ราชสำนักแล้ว แต่ภายหลังพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะพบกับเธออีกไม่ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรือว่าเป็นการส่วนพระองค์ สมเด็จพระราชินีทรงให้การสนับสนุนตามหลักศีลธรรมกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งขี้อายและพูดติดอ่าง ให้เสวยราชสมบัติแทนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระองค์ก็ยังทรงร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์และพระราชินีองค์ใหม่ด้วย นับได้ว่าเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงพระองค์แรกที่เคยปฏิบัติเช่นนี้ พระองค์ทรงผิดหวังกับสิ่งที่เป็นการละทิ้งหน้าที่ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดและพระองค์ไม่เคยทรงแปรเปลี่ยนความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทรงรับรู้ว่าเป็นความเสียหายแก่ราชบัลลังก์ แต่ความรักของพระองค์ที่มีต่อกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดในฐานะที่เป็นพระราชโอรสยังคงเหมือนเดิม

สมเด็จพระราชินีแมรีทรงช่วยเหลืออย่างแข็งขันในการเลี้ยงดูพระราชนัดดาทั้งสองพระองค์คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต โรส ซึ่งพระชนกและพระชนนีทรงเห็นว่ามิจำเป็นที่ทั้งสองพระองค์จะต้องมีภาระหน้าที่จากระบบทางการศึกษาแบบบังคับ โดยการนำทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสยังสถานที่ต่างๆ ในกรุงลอนดอน เยี่ยมชมหอแสดงงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พระเจ้าจอร์จที่ 6 โปรดให้พระชนนีอพยพออกจากกรุงลอนดอน แม้ว่าพระราชินีแมรี่ยังทรงลังเล แต่ก็ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะไปประทับอยู่ที่ตำหนักแบดมินตันกับแมรี่ ซอเมอร์เซ็ต ดัชเชสแห่งโบฟอร์ต พระนัดดาซึ่งเป็นธิดาของอดอลฟัส ลอร์ดเคมบริดจ์ พระอนุชา พระองค์ ข้าราชบริพารสี่สิบห้าคนและสิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์ที่ต้องใช้กระเป๋าสัมภาระเจ็ดสิบใบในการขนย้ายจากกรุงลอนดอนใช้เนื้อที่ในตำหนักทั้งหมด ยกเว้นแต่ห้องชุดของดยุกและดัชเชสอีกเจ็ดปีถัดไป คนที่บ่นกับการจัดของเป็นพวกข้าราชบริพาร ซึ่งคิดว่าตำหนักเล็กไป สมเด็จพระราชินีแมรี่ทรงสนับสนุนความอุตสาหะ ในการทำสงครามโดยการเสด็จเยี่ยมกองทหารและโรงงานและทรงช่วยเก็บรวบรวมเศษซากวัตถุต่างๆ พระองค์ยังทรงให้คนนำรถไปส่งทหารที่ได้พบบนท้องถนน และทำให้พระนัดดาของพระองค์เกิดความรำคาญใจด้วยการมีเถาไม้เลื้อยโบราณขาดลงมาจากกำแพงของตำหนักแบดมินตัน ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นอันตรายและไม่น่าดูชม ในปี ค.ศ. 1942 เจ้าชายจอร์จ ดยุกแห่งเคนต์ พระราชโอรสองค์เล็กสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางเครื่องบินระหว่างทรงปฏิบัติราชการ ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จกลับตำหนักมาร์ลโบโรในปี ค.ศ. 1945 หลังจากสงครามในทวีปยุโรปสิ้นสุดลงจากการพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมัน

สมเด็จพระราชินีแมรี่บางครั้งทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแสวงหาศิลปวัตถุอย่างเอาจริงเอาจังสำหรับเป็นของสะสมในพระราชวงศ์ ในหลากหลายโอกาส พระองค์ทรงปรารภกับเจ้าของบ้านหรือบุคคลอื่นว่าพระองค์โปรดปรานกับสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของมาก เพื่อหวังว่าเจ้าของจะเต็มใจถวายให้โดยสมัครใจ

ความรู้อันกว้างขวางและการค้นคว้าในเรื่องสมบัติที่เป็นของสำนักการสะสมงานศิลป์หลวงของพระราชินีแมรี่ยังช่วยในการบ่งบอกประเภทของสิ่งประดิษฐ์หรืองานศิลป์ที่อยู่ผิดตำแหน่งมาหลายปี ดังตัวอย่างเช่น พระราชวงศ์ได้ให้มิตรสายชาวอังกฤษในสมัยก่อน ๆ ยืมสิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้นกับซึ่งยังไม่ได้รับกลับคืนมา ทันทีที่พระองค์ได้ระบุบ่งสิ่งของที่หายไปในรายการทรัพย์สินเล่มเก่า พระองค์จะทรงเขียนถึงผู้ที่ครอบครองอยู่เพื่อขอสิ่งของกลับคืน พระองค์ทรงเป็นนักสะสมวัตถุและรูปภาพที่กระตือรือร้นด้วยเส้นสายในพระราชวงศ์ เช่น พระองค์ทรงจ่ายการตีราคาในตลาดเปิดอย่างใจกว้างเมื่อทรงรับซื้อเครื่องเพชรจากนายหน้าของสมเด็จพระจักรพรรดินีพันปีหลวงมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย และยังทรงจ่ายสามเท่าของการตีราคาเมื่อทรงซื้อ Cambridge Emeralds ของครอบครัวจากเลดี้คิลเมอร์รี สนมลับของเจ้าชายฟรานซิส พระอนุชาผู้ล่วงลับ

ในปี ค.ศ. 1952 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต โดยเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สามที่สวรรคตก่อนสมเด็จพระราชินีแมรี่ และเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชนัดดาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จสวรรคตในปีต่อมาด้วยโรคมะเร็งปอด (ซึ่งสาธารณชนทราบว่าเป็น "ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร") ขณะมีพระชนมายุ 86 พรรษา โดยมิได้ทรงเห็นพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในกรณีของการสวรรคตของพระองค์ สมเด็จพระราชินีแมรี่โปรดให้ทราบว่างานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องไม่เลื่อนออกไป พระศพตั้งไว้ให้สักการะที่ห้องโถงใหญ่เวสต์มินส์เตอร์ ซึ่งกลุ่มพสกนิกรที่ไว้อาลัยเข้าแถวเดินผ่านโลงพระศพ พระศพของพระองค์ฝังอยู่ข้างพระราชสวามีตรงส่วนกลางของโบสถ์เซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์

พระราชอิสริยยศ

[แก้]


ตราพระนามาภิไธยและตราอาร์มประจำพระองค์

  • 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1867 – 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1893: เจ้าหญิงวิกตอเรีย แมรีแห่งเท็ค (Her Serene Highness Princess Victoria Mary of Teck)
  • 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 – 22 มกราคม ค.ศ. 1901: ดัชเชสแห่งยอร์ก (Her Royal Highness The Duchess of York)
  • 22 มกราคม – 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901: ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์และยอร์ก (Her Royal Highness The Duchess of Cornwall and York)
  • 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 – 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910: เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Her Royal Highness The Princess of Wales)
  • 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 – 20 มกราคม ค.ศ. 1936: สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร (Her Majesty The Queen)
  • 20 มกราคม ค.ศ. 1936 – 24 มีนาคม ค.ศ. 1953: สมเด็จพระราชินีแมรีแห่งสหราชอาณาจักร (Her Majesty Queen Mary)


ก่อนหน้า มาเรียแห่งเท็ค ถัดไป
เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร
พระอัครมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 5
6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 - 20 มกราคม ค.ศ. 1936

เอลิซาเบธ โบวส์-ลีออน
สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา สมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย
ในสมเด็จพระจักรพรรดิจอร์จที่ 5
6 พฤษภาคม ค.ศ. 1910 - 20 มกราคม ค.ศ. 1936

สมเด็จพระจักรพรรดินีเอลิซาเบธ
อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก
เจ้าหญิงแห่งเวลส์
ไดอานา สเปนเซอร์
อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก
ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์
ไดอานา สเปนเซอร์
อเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก
ดัชเชสแห่งรอธเซย์
ไดอานา สเปนเซอร์


pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy